หากตามแผนในปี2565นิคมอุตฯอีสานใต้จะเกิดสร้างงานกว่า20000อัตรา

จากการที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU ของกลุ่มทุนไทย-ญี่ปุ่น ร่วมลงขัน ทุ่มเงินลงทุน 2,700 ล้านบาท เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลฯถิ่นอีสานใต้ หากเป็นไปตามแผนจะทำให้กระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในเขตอีสานใต้และใกล้เคียงนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการสร้างงานราว 20,000 อัตรา ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอปรับเปลี่ยนผังมืองการใช้ประโยชน์ที่ดินจากสีเขียวเป็นสีม่วง กับกรมโยธาธิการและผังเมือง
เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรก ใน จังหวัดอุบลราชธานี หวังปักธงแจ้งเกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน เสนอให้ภาครัฐช่วยผลักดัน เป็นโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตำบลนากระแซง และตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ 2,300 ไร่ เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ มีโครงการรถไฟทางคู่และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน
ล่าสุดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ถือว่า มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยบริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ ได้ดึงพันธมิตรจากญี่ปุ่น 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไคไก แอดไวซอรี่ จำกัด บริษัท เวลเนสไลฟ์โปรเจ็ค (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เอเชี่ยนไดนามิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมจัดตั้งนิคม ด้วยงบการลงทุนกว่า 2,700 ล้านบาท
นายณัฐวัฒน์ เลิศสุรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด จากที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เป็นแห่งแรกในจังหวัดอุบลราชธานี ไปแล้ว ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565

สำหรับการจัดตั้งนิคมแห่งนี้ สามารถรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องมือและยานยนต์ที่ใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวข้ามแดน อุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมเทคโนชีวภาพ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เป็นต้น ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดเขตอีสานใต้ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ มีประชากรกว่า 1.8 ล้านคน และหากรวมกับจังหวัดในอีสานใต้จะมีประชากรกว่า 10 ล้านคน ซึ่งนิคมแห่งนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น กระตุ้นการจ้างงาน และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สามารถสร้างมูลค่าการลงทุนให้กับภูมิภาคได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่าภายหลังการพัฒนานิคมอตุสาหกรรมอุบลราชธานีขึ้นมา จะกระตุ้น ให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจในเขตนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทและก่อให้เกิดการสร้างงานราว 20,000 อัตราได้ภายในปี 2565

ขอบคุณ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย /electricityandindustry.com/นิคมอุตสาหกรรม-อุบลฯ/