งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กำหนดงานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ประจำปี 2561 ณ ลำน้ำมูล หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก วันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2561
โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับอำเภอสตึก เทศบาลตำบลสตึก และ ททท.เตรียมจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิง 3 ถ้วยพระราชทานฯ ชิงจ้าวยุทธจักรแห่งลำน้ำมูล ชมขบวนพาเหรดช้าง แข่งขันช้างว่ายน้ำข้ามลำน้ำมูล ชิงถ้วยใบใหญ่ที่สุดในโลก การประกวดนายท้ายเรือ ประกวดธิดาช้าง และการประกวดแม่ย่านาง พร้อมเลือกซื้อสินค้าโอท็อป
ตำนานสำหรับการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานฯ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้านในแถบบริเวณแม่น้ำมูล อ.สตึก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 ด้วยเดิมชาวอำเภอสตึก อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูลซึ่งมีเรือเป็นพาหนะสัญจรและเป็นการคมนาคมที่สำคัญที่สุดในด้านการทำการเกษตรกรรม ธุรกิจการค้า รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงมีความผูกพันกับสายน้ำแห่งชีวิตนี้หลังฤดูการทำนาชาวบ้านจะนำเรือมาแข่งขันกันเพื่อสร้างความรักความสามัคคีเรื่อยมาจนปัจจุบัน
นายรังสิกร ทิมาตฤกะ รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ ในฐานะประธานอำนวยการจัดการจัดแข่งเรือยาวประเพณี ประจำปีนี้ งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวางกูร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประจำปี 2561 ในวันที่ 3-4 พ.ย.61 ณ ลำน้ำมูล สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา อ.สตึก จ.บุรีรัมย์
สำหรับปีนี้แบ่งประเภทเรือเข้าแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท
ประเภทเรือไม้ ก.(ไม่เกิน 55 ฝีพาย) มีเรือดังชนิดแชมปชนแชมป์มาร่วมแข่ง ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวางกูร พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท เช่น เรือเทพนรสิงห์ 88 จ.สระบุรี เรือรุ่งสุริยา จ.หนองคาย เรือเทพสุริยะ จ.สุรินทร์ และเรือพรพระยาตาก จ.ชัยนาท
ประเภท เรือไม้ ข.(ไม่เกิน 40 ฝีพาย) มีจำนวน 8 ลำ มีเรือดังจากหลายจังหวัดในภาคอีสานมาร่วมแข่ง ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 5 หมื่นบาท
ประเภทเรือโลหะ(เรือท้องถิ่นไม่เกิน 36 ฝีพาย) มีจำนวน 16 ลำ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท
ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นสื่อในการที่จะเชื้อเชิญให้แขกต่างถิ่นได้เข้ามาเยี่ยมเยียนอีกทางหนึ่ง ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์
ไฮไลท์ ที่ตื่นตาตื่นใจที่สุด คือ ขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทานฯ ขบวนพาเหรดช้าง การแข่งขันช้างว่ายน้ำระหว่างช้าง จ.บุรีรัมย์ และช้าง จ.สุรินทร์ ชิงรางวัลถ้วยใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงานได้เป็นอย่างมาก
กิจกรรมในงาน นอกจากจะได้ชมการประชันฝีพายของบรรดาเรือยาวแต่ละลำที่สนุกสนานตื่นเต้นแล้ว ยังจะได้ร่วมชมกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จัดขึ้น ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ การประกวดสวดสรภัญญะ , การประกวดนายท้ายเรือ รุ่นประชาชนทั่วไป (OPEN), การประกวดธิดาช้าง รุ่นประชาชนทั่วไป (OPEN), การประกวดแม่ย่านาง รุ่นประชาชนทั่วไป (OPEN) และรุ่นประชาชนทั่วไปในเขต จ.บุรีรัมย์, การประกวดดนตรีแดนเซอร์, มหกรรมอาหารปลอดภัยถนนคนเดิน และจำหน่ายสินค้าสุดยอด OTOP ใน จ.บุรีรัมย์
ขอบคุณ ข่าว/ภาพ naewna.com / Thai PBS