วันที่ 14 ต.ค.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ ระบุว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีเปิดประเทศ พ.ย.-ธ.ค.นี้ เบื้องต้นให้ยกเลิกการกำหนด ประเทศ ดินแดนความเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 โดยประเทศความเสี่ยงต่ำขอโควิด-19 คือ มติครั้งแรกของการจัดกลุ่มในการปรับใช้ เป็นเรื่องเดิม คณะกรรมการวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ ได้คุยกันมาพอสมควรว่าเรื่องนี้ต้องยกเลิกไป เพราะในต่างประเทศมีการจัดการทำสิ่งเหล่านี้ ทำให้การจัดการ และเกณฑ์ต่างๆ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ยังต้องมีมาตรการส่วนบุคคลในการเข้าราชอาณาจักร เช่น การฉีดวัคซีนครบโดส มาจากประเทศเสี่ยงต่ำ มีผลตรวจเชื้อด้วย RT-PCR และตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงไทย เป็นปัจจัยที่สำคัญมากกว่า เพราะฉะนั้นการกำหนดประเทศที่เป็นความเสี่ยงจึงขอยกเลิกไป
สำหรับการเปิดประเทศ มีพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว พื้นที่สีฟ้า จากเดิมภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน) เช่นมาอยู่ที่ ภูเก็ต 7 วันแล้วไปที่เกาะต่างๆ ในพังงา กระบี่ อีก 7 วัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคนที่มาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และ 7+7 ได้มีการจัดการดี จึงจะมีการขยายพื้นที่รับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม
โดยหลักการพื้นที่สีฟ้าที่มีแผนจะขยาย แบ่งเป็น ระยะนำร่อง (1-31 ต.ค.64) ที่ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์)
ต่อมาระยะที่ 1 (1-30 พ.ย.64) จะเลือกบางพื้นที่เพิ่มอีก 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ (เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ) พังงา(ทั้งจังหวัด) กระบี่ (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) เพชรบุรี(ชะอำ) ชลบุรี (พัทยา บางละมุง นาจอมเทียน บางเสร่ เกาะสีชัง ศรีราชา) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (เมือง) หนองคาย (เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ สังคม) อุดรธานี (เมือง นายูง หนองหาน ประจักษ์ศิลปาคม กุมภวาปี บ้านดุง) ระยอง (เกาะเสม็ด) และ ตราด (เกาะช้าง)
จากนั้นในเดือน ธ.ค.64 จะเพิ่มพื้นที่สีฟ้า อีก 16 จังหวัด รวมเป็น 33 จังหวัด เช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย ขอนแก่น ส่วนมากเป็นพื้นที่นำร่องที่เป็นเมืองหลัก
ทั้งนี้ต้องรอเข้าที่ประชุม ที่มีพลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะประธาน ศปก.ศบค. พิจารณาก่อนจะมาชี้แจงอีกครั้ง
สำหรับแผนรองรับการเปิดประเทศ เข้าราชอาณาจักรโดยไม่ต้องกักตัวและไม่จำกัดพื้นที่นั้น เป็นแนวคิดของนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.ซึ่งทางทีมงานได้แปลงมาเป็นแผนต่อไป โดยในเรื่อง แผนเปิดประเทศอย่างปลอดภัย หรือ Smart entry ได้เนินความสำคัญคือ การปรับแผนมาตรการของผู้เข้าประเทศ ลดการกักตัว ปรับการตรวจหาเชื้อ ค่าประกัน ซึ่งรายละเอียดจะหารือกันอีกครั้ง รวมถึงการเฝ้าระวัง การลักลอบเข้าประเทศ จัดระบบแรงงานเข้าประเทศ ซึ่งทางมหาดไทยไปและกระทรวงกลาโหมจะเป็นผู้ดูแล
นอกจากนี้ ในแผนเปิดประเทศ ยังให้เตรียมแผนเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง เตรียมแผนด้านสาธารณสุข พัฒนาฐานข้อมูล การบริหารจัดการแบบบูรณาการ ทั้งหมดได้เสนอในที่ประชุม และได้สั่งให้ไปทำแผน ซึ่งภายใน 2 เดือนที่เหลือ ให้ ศบค.อนุมัติแผนดังกล่าวแล้วถ่ายทอดไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้จัดทำแผนและดำเนินการ โดยให้วันที่ 1-31 พ.ย. นี้ ถือเป็นระยะที่ 1 จากนั้นจะมีการประเมินและดำเนินการในระยะที่ 2 ส่วนระยะที่ 3 คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมวันนี้(14 ต.ค.) มีข้อสรุปแล้วมีการเห็นชอบ ดังนี้
1.ให้ที่ประชุม ศปก.ศบค. พิจารณาแนวทางเข้าราชอาณาจักรแบบไม่กักตัว ไม่จำกัดพื้นที่ ตามแนวทางที่ สะงเสนอ ทั้งนี้ยังไม่มีการแจ้งประเทศเพิ่มเติม
2.เห็นชอบยกเลิกการกำหนดประเทศที่เป็นความเสี่ยง โควิด-19
3.เห็นชอบแผนการรองรับเปิดประเทศ และแผนเร่งรัดในการรองรับการเปิดประเทศ
ทั้งนี้ความคืบหน้า ที่ประชุม ศปก.ศบค. จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง