เดินไปมา ลุกยืนหรือลุกนั่ง 3 ครั้ง หรือ กลั้นหายใจ 10 – 15 วินาที หากทำแล้วเหนื่อย และวัดออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94 ลงไป ให้สงสัยว่าเชื้อโควิดลงปอดไว้ก่อน : นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด สหรัฐอเมริกา
ดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อเชื้อโควิด-19 ลงปอด
หากทราบว่าตนเองเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะดูแลตนเองอย่างไรในระหว่างที่รอเตียง? นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด สหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองระหว่างที่รอเตียง โดยควรปฏิบัติดังนี้
แนะนำให้ “นอนคว่ำ” ระหว่างรอเตียง
-การนอนคว่ำ เพื่อให้ปอดไม่มีการกดทับ และทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยวิธีการนอนคว่ำให้กอดหมอนไว้ที่หน้าอก เพื่อให้นอนสบายขึ้น
-ผู้ป่วยบางคน หากนอนคว่ำไม่ได้ หายใจไม่ออก ให้นอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำ 45 องศามาทางเตียง
-กรณีที่ตั้งครรภ์ให้นอนตะแคงด้านซ้าย เพราะจะทำให้น้ำหนักของมดลูกไม่ไปกดเส้นเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
-ขยับขาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
พยายามเคลื่อนไหวขาบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียน และป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยืดงอขา หรือยืดเหยียดปลายเท้า เป็นต้น
ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารให้เพียงพอ
ควรดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 2 – 2.5 ลิตรต่อวัน แต่อย่าดื่มมากเกินไปเพราะจะส่งผลเสียทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง
-หากยังสามารถรับประทานอาหารได้ ให้พยายามรับประทานให้เพียงพอ
-ในกรณีที่รับประทานอาหารไม่ได้เลย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน
-รับประทานยาประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรงดการรับประทานยาประจำตัว อย่าขาดยา
**หากมีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาขับปัสสาวะอยู่ แล้วดื่มน้ำไม่ได้ ตรงนี้ให้งดยาไปก่อน
หากรับประทานยาโรคความดันโลหิตสูงอยู่ ควรวัดความดันบ่อยๆ ถ้าพบว่าความดันต่ำกว่า 90/60 ควรงดยาความดันโลหิตสูง เพราะเราไม่ต้องการให้ความดันต่ำไปกว่านั้น ถ้าความดันต่ำมากจะอันตราย อาจช็อกหรือหมดสติได้
หากรับประทานยาโรคเบาหวานอยู่ ควรตรวจน้ำตาลสม่ำเสมอๆ ตรวจ 4 เวลาแล้วจดไว้ ถ้าพบว่าน้ำตาลต่ำประมาณ 100 และทานอาหารไม่ได้ ทานได้น้อย ควรงดฉีดอินซูลิน หรืองดยากลุ่มที่ลดน้ำตาลในเลือด เพราะถ้ามีภาวะน้ำตาลต่ำในขณะที่ป่วยโควิดจะเป็นอันตรายได้
เตรียมยาพาราเซตามอล ไว้รับประทานเวลามีไข้
-ถ้ามีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น หากเริ่มมีไข้ต่ำๆ ให้รับประทานพาราฯ ได้เลย อย่ารอให้ไข้สูงหรือหนาวสั่น เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ *แต่ไม่แนะนำให้รับประทานยาลดไข้กลุ่ม NSAID เช่น ibuprofen, naproxen, mefenamic acid (Ponstan), diclofenac (Voltaren) เพราะอาจทำให้ไตวายได้*
-ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร/กระชายขาว รับประทานได้แต่ต้องทานตามปริมาณกำหนดของกรมการแพทย์แผนไทย *หากทานเกินปริมาณกำหนดอาจทำให้ตับวายได้*
-ส่วนผู้ป่วยโรคตับ ห้ามรับประทาน เพราะอาจทำให้ตับวายได้ หรือผู้ที่แพ้ยาพาราเซาตามอล แนะนำให้เช็ดตัวเพื่อลดไข้
ถ้าเหนื่อยมาก อย่าเข้าห้องน้ำ
หากมีอาการเหนื่อยมาก อย่าไปเข้าห้องน้ำ เพราะการเบ่งถ่าย และลุกนั่งอาจทำให้เป็นลมหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นได้ ควรขับถ่ายบริเวณข้างเตียงเลยดีที่สุด ใช้กระโถน กระดาษ หรืออะไรที่หาได้
หากจำเป็นจะเข้าห้องน้ำ ห้ามล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย เนื่องจากมีหลายรายที่เหนื่อยแล้วไปเข้าห้องน้ำ เกิดเป็นลมและหัวใจหยุดเต้น
หมั่นติดต่อญาติ ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ
____________________________________________________________________
รักษา COVID-19 ช่วยปอด
การรักษาโรค COVID-19 เมื่อลงปอดทำได้ด้วยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัส หยุดยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มเติมและทำลายเซลล์ นอกจากนี้แพทย์จะจ่ายยาต้านการอักเสบเพื่อลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ร่วมกับการให้ยารักษาตามอาการควบคู่กันไป
ในกรณีที่อาการหนัก เนื้อปอดบวมน้ำมาก เนื้อปอดเสียหายมาก แพทย์จำเป็นจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเนื้อปอด ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดสูงพอที่จะรักษาปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ แต่ในบางกรณีที่เครื่องช่วยหายใจไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ก็จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ซึ่งทำงานโดยนำเลือดจากร่างกายคนไข้มาฟอกแล้วเติมออกซิเจนเข้าไปก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของคนไข้อีกครั้ง ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับคนไข้
ดูแลปอดช่วง COVID-19
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลปอดช่วง COVID-19 คือ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งทำได้ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่แออัด เลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที
เพิ่มเติม จากเพจเรื่องเล่าเช้านี้ "ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายสรรพคุณสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจากการทบทวนข้อมูลวิจัยต่างๆ องค์ประกอบสำคัญ หรือสารออกฤทธิ์ ที่มีการจากการศึกษาใช้ในการรักษา Covid19 ระบุว่า สารออกฤทธิ์ ที่มีการค้นพบใน ฟ้าทะลายโจร คือ แอนโดรกราโฟไลด์ สามารถใช้ได้ผลดีสุดในช่วงแรก ตอนที่เชื้อโรคเริ่มเข้าสู่ร่างกาย
แต่ไม่ช่วยเวลาที่ปอดอักเสบหรือเยื่อบุปอดบวมแล้ว อีกทั้งยังอาจจะทำให้การซ่อมแซมเนื้อเยื่อปอดช้าลง เพราะช่วงของการซ่อมแซม ต้องการการสร้างโปรตีนและใช้พลังงาน ดังนั้นการเลือกใช้ ยาชนิดไหน ต้องอยู่ที่ว่า เรามีอะไรอยู่ในมือ มีมากพอไหม เพียงพอให้ใช้ไหม ราคาถูก หาง่าย เข้าถึงได้ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เพิ่มภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถกินป้องกันได้ ได้ประโยชน์ เมื่อติดเชื้อแล้วเท่านั้น"
อ้างอิงข้อมูล เว็บ Sikarinhospital / Bangkokhearthospital