สืบสานประเพณี"แซนโฎนตา"สารทชาวไทยเชื้อสายเขมร

ประเพณีแซนโฎนตา งัยเบ็นทม(วันสารทใหญ่) สารทไทย-สุรินทร์ เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญและปฏิบัติสืบทอดติดต่อกันมายาวนานนับพันปีของของชาวอีสานใต้เชื้อสายเขมร ที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูของสมาชิกในครอบครัว เครือญาติ และชุมชน โดยจะประกอบพิธีกรรมตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ลูกหลาน ญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพหรือตั้งถิ่นฐานที่อื่น ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล จะเดินทางกลับมารวมญาติเพื่อทำพิธี"แซนโฎนตา"
นิยามศัพท์เฉพาะ แซน หมายถึง การเซ่น การเซ่นไหว้ การบวงสรวง โฎนตา หมายถึง การทำบุญให้ยายและตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีแซนโฎนตา จึงหมายถึง ประเพณีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ จัดเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยซึ่งพูดภาษาเขมร มีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลานาน

ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เช้าตรู่ชาวไทยเชื้อสายเขมรทุกครอบครัวก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้ไปวัดอีก เพื่อทำบุญอุทิศแก่ผีไม่มีญาติ ชาวไทยเชื้อสายเขมรจะอาศัยอยู่ในแถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มีประเพณีงานบุญเดือน ๑๐ หรืองานสารท เพื่อทำบุญบูชา รำลึก และอุทิศอาหาร ข้าวของเครื่องใช้แก่บรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย หรือบุพการีผู้ล่วงลับไป จะทำพิธีในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี เชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมลูกหลาน หรือญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ สมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่อื่นหรือที่แยกครอบครัวจะกลับมาเยี่ยมบ้าน และถือเป็นวันรวมครอบครัววันหนึ่งพี่น้องจะมาพร้อมหน้าพร้อมตาทำบุญ ถือเป็นวันหนึ่งที่ให้ความสำคัญของชาวไทยเชื้อสายเขมร
ตัวอย่าง ของที่นำมาทำบุญ ข้าวต้มมัดที่ห่อใบตองและที่ห่อด้วยใบมะพร้าว กล้วย หมากพลู อาหารสด อาหารแห้ง ฯลฯ แล้วจัดวางใส่“กระจือโฎนตา”(กระเชอสำหรับจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้) ร่วมงานและสืบสานประเพณีอันล้ำค่านี้สืบไป
อนึ่งสำหรับงานบุญเดือน10 ประกอบด้วยงานบุญเริ่มจาก
1.ประเพณีของชาวกวนเรียกว่าโฎนตาน้อย (ไงเบ็นตูจ) จะตรงกับขึ้น14และ15ค่ำ เดือน10
2.ประเพณีของไทยเชื้อสายเขมรที่เรียกกันติดปากว่าโฎนตาใหญ่ (ไงเบ็นทม) ตรงกับแรม 14ค่ำเดือน10
3.ประเพณีสารทไทย จะตรงกับแรม 15 ค่ำเดือน10 ของทุกปี ในประเพณีจะมีการนำข้าวปลา อาหาร และข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้านพร้อมไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล ยังมีการนำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่นไปฝากซึ่งกันและกันยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกลหรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน

ข้อมูลเรื่องข้าวต้มใบมะพร้าว โดยจักร ศิลาทราย
(อัน ซอม เซลาะ โดง หรือ ข้าวต้มใบมะพร้าว) ถือเป็นอัตลักษ์อย่างหนึ่งของชาวเขมรถิ่นไทย เพราะการห่อข้าวต้มด้วยใบมะพร้าวอ่อน จะต้องใช้ความมานะพยายามมาก ซึ่งน้อยคนนักที่จะห่อได้ เพราะการห่อข้าวต้มด้วยใบมะพร้าวอ่อนถือเป็นหนึ่งในเครื่องกระยาหาร ในพิธีกรรม "แซนโฎนตา"เป็นข้าวต้มมงคล และเป็นข้าวต้ม "เสี่ยงทาย"ในงานพิธีแต่งงานของชาวเขมรอีกด้วย ไม่เพียงแต่ข้าวต้มใบมะพร้าวอ่อนเท่านั้น ยังมีขนมสำคัญอีกหลายอย่างที่ขาดไม่ได้ในพิธีแซนโฎนตา คือ "ขนมกันตรือม" "ขนมโกร๊ย" "ขนมโช๊ค" "ขนมมุข" "ขนมด๊อจ" "ขนมลีงเลฎ" และอีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ (อัน ซอม กบอง)หรือ "ข้าวต้มด่าง" ที่กล่าวมาทั้งหมด คือขนมที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมแซนโฎนตา หลายๆท่านอาจเคยได้กินหรือรู้จัก ขนมโบราณเหล่านี้บางชนิดหากินยากมาก บางชนิดทำขึ้นเฉพาะงานพิธีเท่านั้น ดังนั้น "อัน ซอม เซลาะ โดง" ข้าวต้มใบมะพร้าวอ่อน "อัน ซอม กบอง" ข้าวต้มด่าง จึงถือเป็นอัตลักษ์ ของชาวเขมรถิ่นไทยอีกด้วย *รักบ้านเกิด รักถิ่นกำเนิด รักชาติกำเนิดของเรา ขแมร์เซราะยายแย้มวัฒนา


“ประเพณีแซนโฎนตา”ถือเป็นวันสารทใหญ่ หรือภาษาเขมร"ไงเบ็นทม"ของชาวอีสานใต้เชื้อสายเขมรแถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ “ประเพณีแซนโฎนตา” แซน หมายถึง การเซ่น การเซ่นไหว้ การบวงสรวง โฎนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยในเขตอีสานใต้ยังคงสืบทอดประเพณีการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับมานับพันปี เทียบศัพท์คำว่า "ไง" หมายถึง วัน คำว่า "แซน" หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า "โฎน" หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า "ตา" หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร
แซนโฎนตา คือประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร ปีนี้ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม 2566 (วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี )



กิจกรรม..
ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ เชื่อว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้วเดินทางมาถึงโลก ชาวไทยเชื้อสายเขมรทุกครอบครัวจะจัดเตรียมตั้งเครื่องเซ่นไหว้ที่บ้าน โดยจัดใส่กันจือเบ็นเพื่อญาติๆ ใช้สำหรับเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การทำพิธีแซนโฎนตาโดยผู้อาวุโสก็จะเรียกถามหาลูกหลาน ญาติพี่น้องว่ามาพร้อมหน้ากันหรือยัง และให้มารวมกัน แล้วจะเริ่มเซ่นไหว้โดยจุดธูปเทียน ยกขันห้าไหว้และต่างก็พูดเรียกดวงวิญญาณบรรพบุรุษให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ แล้วรินน้ำให้ล้างมือ และรินเครื่องดื่ม เช่น เหล้า น้ำอัดลม ฯลฯ ชี้บอกให้รู้ว่ามีเครื่องเซ่นไหว้อะไรบ้าง เสมือนการมารายงานตัวต่อบรรพบุรุษว่าได้มารอต้อนรับแล้ว ในพิธีเซ่นไหว้ใช้เวลาประมาณ ๒๐ –๓๐ นาที เมื่อ ทำพิธีเสร็จแล้วลูกหลานญาติพี่น้องก็จะนำอาหารเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ มารับประทานร่วมกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่ลูกหลาน ญาติมิตร เพราะหนึ่งปี มีครั้งเดียว ลูกหลานที่ไปอยู่หมู่บ้านอื่นหรือต่างจังหวัดจะได้รู้จักคุ้นเคยกัน ในช่วงเย็นเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ซึ่งได้จัดเตรียมไว้แล้ว พร้อมบอกให้วิญญาณบรรพบุรุษไปที่วัดเพื่อฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธีมอบเครื่องเซ่นไหว้แก่บรรพบุรุษ แล้วกลับมาบ้านเตรียมปูที่นอนและเครื่องใช้สำหรับให้บรรพบุรุษ เชื่อว่าบรรพบุรุษจะค้างที่บ้านในคืนนี้ ก่อนสว่างก็จะทำเรือกาบกล้วย ใส่เงินกระดาษ ขนม อาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ และเสื้อผ้าของใช้ขนาดเล็ก จุดธูปเทียนแล้วลอยไปในแม่น้ำ หรือบ่อในบริเวณบ้านเพื่อเป็นการส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับสู่ยมโลกก่อนสว่าง หากไม่ทำเรือส่งท่านก็จะกลับไปยมโลกไม่ได้ และจะติดค้างอยู่ในโลกกระทั่งถึงไงแซนโฎนตาอีกรอบนับเป็นการสร้างบาปและความ ทุกข์แก่วิญญาณบรรพบุรุษ


**ขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ และเพื่อนในเพจร่วมด้วยในภาพประกอบ และข้อมูล หากมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถมาแบ่งปันกันได้ ด้วยความยินดี มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน สืบทอดประเพณีอันดีงามของชาวอีสานใต้ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้คงอยู่ต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน