ข่าวดีคืบหน้านิคมอุตสาหกรรมอุบลฯแห่งอีสานใต้ โดยกลุ่มทุนไทย-ญี่ปุ่น

จากแหล่งข่าว กลุ่มทุนไทย-ญี่ปุ่น ร่วมลงขัน เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลฯถิ่นอีสานใต้ หากเป็นไปตามแผนจะทำให้กระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในเขตอีสานใต้และใกล้เคียงนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการสร้างงานราว 20,000 อัตรา ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอปรับเปลี่ยนผังมืองการใช้ประโยชน์ที่ดินจากสีเขียวเป็นสีม่วง กับกรมโยธาธิการและผังเมือง
จากแหล่งข่าว กลุ่มทุนไทย-ญี่ปุ่น ร่วมลงขัน เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรก ใน จังหวัดอุบลราชธานี หวังปักธงแจ้งเกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน หลังจากกรกฎาคมปีที่แล้ว นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 หรือ อีสานใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด อุบลราชธานี  ยโสธร ศรีสะเกษ และ อำนาจเจริญ ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดอุบลราชธานี 1 ในโครงการสำคัญที่ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐช่วยผลักดัน เป็นโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตำบลนากระแซง และตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ 2,300 ไร่ เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ มีโครงการรถไฟทางคู่และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน
ล่าสุดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ถือว่า มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยบริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ ได้ดึงพันธมิตรจากญี่ปุ่น 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไคไก แอดไวซอรี่ จำกัด บริษัท เวลเนสไลฟ์โปรเจ็ค (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เอเชี่ยนไดนามิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมจัดตั้งนิคม ด้วยงบการลงทุนกว่า 2,700 ล้านบาท
นายณัฐวัฒน์ เลิศสุรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัท ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เป็นแห่งแรกในจังหวัดอุบลราชธานี ไปแล้ว ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอปรับเปลี่ยนผังมืองการใช้ประโยชน์ที่ดินจากสีเขียวเป็นสีม่วง กับกรมโยธาธิการและผังเมือง ควบคู่กับการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และหลังจากนั้น จะยื่นเรื่องไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อจัดตั้งเป็นนิคมร่วมดำเนินการต่อไป

สำหรับการจัดตั้งนิคมแห่งนี้ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องมือและยานยนต์ที่ใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวข้ามแดน อุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมเทคโนชีวภาพ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ นิคมแห่งนี้ จะเป็นฐานการเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมมรกต ซึงประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจของประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว และประเทศเวียดนาม ที่นักลงทุนต่างๆ จะสามารถกระจายสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างสะดวก เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เป็นหนึ่งในจังหวัดเขตอีสานใต้ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ มีประชากรกว่า 1.8 ล้านคน และหากรวมกับจังหวัดในอีสานใต้จะมีประชากรกว่า 10 ล้านคน ซึ่งนิคมแห่งนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น กระตุ้นการจ้างงาน และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สามารถสร้างมูลค่าการลงทุนให้กับภูมิภาคได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่าภายหลังการพัฒนานิคมอตุสาหกรรมอุบลราชธานีขึ้นมา จะกระตุ้น ให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจในเขตนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทและก่อให้เกิดการสร้างงานราว 20,000 อัตราได้ภายในปี 2565


อย่างไรก็ตาม ถนนทางฝั่งไทยแม้เชื่อมไปถึงด่านอานม้าแล้ว แต่ยังเปิดการเชื่อมต่อไม่ได้เพราะเหตุผลเรื่องความมั่นคง หากเปิดได้การขนส่งผ่านทางประเทศกัมพูชาไปถึงท่าเรือ Cat Lai ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่โฮจิมินห์ประเทศเวียดนามได้สะดวก จะเป็นผลให้นักลงทุนสามารถขนส่งสินค้าผ่านไปยังทะเลจีนใต้ได้ใกล้ขึ้น
สำหรับกิจการนิคมอุตสาหกรรมปัจจุบันบีโอไอจัดให้อยู่ในกลุ่ม B1 โดยได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค (20 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ) ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี ได้รับสิทธิหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา ได้ 2 เท่าเป็นเวลา 10 ปี และหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 25% ของเงินลงทุน

ขอบคุณ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย /electricityandindustry.com/นิคมอุตสาหกรรม-อุบลฯ/