ผู้ว่าฯบุรีรัมย์นำส่วนราชการ ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสระสิงโต เพื่อจัดทำน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันนี้(06 เม.ย. 62) นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการทุกหมู่เหล่า ประชาชนจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากสระสิงโต แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ภายในวัดกลางพระอารามหลวง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์เปิดกรวยถวายราชสักการะต่อเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นเดินไปยังโต๊ะบวงสรวงจุดธูปเทียนประกอบพิธีพลีกรรม พราหมณ์อ่านโองการบวงสรวงบูชาเทพยดา เทพารักษ์ผู้ดูแลรักษาสถานที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์อ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เดินลงไปยังสระเพื่อตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันน้ำสาคร จำนวน 19 ตัก เสร็จจากนั้นเจ้าหน้าที่ปิดฝาห่อด้วยผ้าขาวผูกริบบิ้นสีขาว และเชิญขันน้ำสาครไปยังพระอุโบสถวัดกลางพระอารามหลวง เพื่อประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกของจังหวัดในวันที่ 8 เมษายน 2562 ต่อไป
สำหรับสระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า “สระสิงโต” ในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อกรุงเจ้าพระยาจักรี ซึ่งต่อมาได้เป็น (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ยกทัพมาตีเมืองจำปาศักดิ์ ทรงได้พักทัพที่บริเวณสระน้ำแห่งนี้ ในอดีตชาวเมืองอาศัยน้ำจากสระดังกล่าวสำหรับดื่มกิน และใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยนำน้ำในสระไปทำพิธีดื่มกินในพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถในปัจจุบัน และเมื่อคราวที่ทางราชการได้จัดพระราชพิธีมหามงคลต่าง ๆ ก็จะนำน้ำศักดิ์ศักดิ์จากสระแห่งนี้ไปประกอบพิธี
ในส่วนวัดกลางพระอารามหลวงดังกล่าว เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์มาแต่โบราณ ตั้งเมื่อ พ.ศ.2329 มีประวัติเล่าสืบต่อกันว่าสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นำทัพไปจัดระเบียบการปกครอง และได้หยุดพักทัพที่บริเวณนี้ ซึ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ในวัดกลางบุรีรัมย์ และทางราชการได้มีประกาศยกวัดกลางเป็นพระอารามหลวง แห่งแรกของบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ.2533
การตักน้ำอภิเษก ขันน้ำสาคร คนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำสรงมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก พระมหากษัตริย์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีกรรมสำคัญ พิธีทำน้ำอภิเษก พิธีพลีกรรมตักน้ำ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์
พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์
เรื่องหน้ารู้เกี่ยวกับพิธีกรรมสำคัญของไทย อย่างพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่จะเกิดขึ้นในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษกและการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ
พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ?
พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อขออนุญาตเทวดาที่ปกปักรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำมาทำน้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษก ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ความหมายของคำว่า “สรงมุรธาภิเษก”
คำว่า มุรธาภิเษก (มุ-ระ-ทา-พิ-เสก) แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า สรงมุรธาภิเษก หมายถึง การยกให้ หรือแต่งตั้งด้วยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ได้มีกำหนดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
กำหนดการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำอภิเษก
โดยจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2562 การตักน้ำอภิเษก มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 107 แหล่งน้ำทั้ง 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำ
สำหรับน้ำสรงมุรธาภิเษก
มีแหล่งน้ำสรงมุรธาภิเษก จำนวน 9 แหล่งน้ำ ได้แก่
สระศักดิ์สิทธิ์ ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี 4 สระ คือ สระแก้ว, สระคา, สระยมนา และ สระเกษ
และน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย คือ
1. แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
2. แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี
3. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักบริเวณปากคลองบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
4. แม่น้ำราชบุรี ตักบริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
5. แม่น้ำเพชรบุรี ตักบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ภาชนะและอุปกรณ์สำคัญ ในพิธีตักน้ำ
1.ขันน้ำสาคร
ขันน้ำสาคร และ ที่ตักน้ำ
เป็นภาชนะใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ปริมาณร้อยละ 80 ของขันน้ำสาครตามฤกษ์ จากนั้นปิดฝาขันน้ำสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นสีขาว นำไปเก็บ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ
2.ที่ตักน้ำ
เป็นทองเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว พร้อมด้ามจับยาว 6 นิ้ว
3.คนโทน้ำอภิเษก
คนโทน้ำอภิเษก
ใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่าน พิธีทำน้ำอภิเษก สามารถบรรจุน้ำได้ 4.5 ลิตร เป็นคนโทเซรามิก มีลวดลายกระจังเป็นลายน้ำทอง เคลือบสีขาวทั้งใบ โดยด้านหน้าจะมีตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ส่วนด้านหลังจะมีภาพเครื่องหมายราชการแต่ละจังหวัด
4. เทียนชัย
เทียนชัย 1 เล่ม หนัก 80 บาท ไส้ 108 เส้น สูงเท่าความสูงของประธาน
5. เทียนมหามงคล
เทียนมงคล 1 เล่ม หนัก 10 บาท ไส้เกินกว่าอายุประธาน หรือเจ้าภาพ 1 เส้น สูงเท่าวงรอบศีรษะ
6. เทียนพุทธาภิเษก
เทียนพุทธาภิเษก 2 เล่ม หนักเล่มละ 32 บาท ไส้ 56 เส้น สูงประมาณกึ่งหนึ่งของเทียนชัย
ลำดับขั้นตอน
หลังจากพิธีพลีกรรมตักน้ำอภิเษกใส่ลงในคนโทน้ำอภิเษกแล้ว จะมีพิธีทำน้ำอภิเษก พิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ก่อนจะเชิญคนโทน้ำอภิเษกของจังหวัดมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย และต่อไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์รวม และสุดท้ายนำไปไว้ยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ที่มาข้อมูลจาก phralan.in.th
ขอบคุณข่าว/ภาพจาก เฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR / สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์